Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Archive for the ‘มุมมองเศรษฐกิจ’ Category

oil.jpg

ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เราจะพบแต่ข่าวราคาน้ำมันโพสต์ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์มาตลอด  เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ขยับไปเกือบ 100 เหรียญดอลล่าร์ต่อบาเรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันทั่วโลกสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง เล่นเอาประเทศพม่าเกิดการประท้วงกันยกใหญ่ ประเทศไทยก็ปวดหัวกันไปตามๆกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการและประชาชนผู้ต้องเดินทางไปประกอบอาชีพประจำวันทั้งหลาย

เบื้องต้นรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต่อด้วยการยอมให้รถโดยสารทั้งหลายขึ้นค่าโดยสาร ส่วนรถขนส่งสินค้าทั้งหลายไม่ต้องพูดถึง เพราะเขาขึ้นกันไปนานแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อค้าแม่ค้าทั้งหลาย ก็ทยอยขึ้นสินค้ากันเป็นทิวแถวโดยอ้างว่าต้นทุนมันสูงขึ้น จะทำอย่างไร ไม่อย่างนั้นก็อยู่กันไม่ได้

สินค้าที่ชิงขึ้นราคาล่วงหน้าไปก่อน ส่วนมากจะเป็นสินค้าที่มิได้อยู่ในรายการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ บังเอิญว่า มันเป็นสินค้าที่ชาวบ้านดำรงชีวิตประจำวันเสียด้วย เช่น ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่งต่างๆ รวมไปถึงเสื้อผ้าต่างๆ ส่วนสินค้าที่ควบคุม 200 รายการ กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญไปร่วมหารือกันแล้ว ตกลงกันว่าจะชะลอการขึ้นราคาไปจนกว่าจะตกลงกันได้ในเรื่องต้นทุนที่แท้จริง

ความจริงแล้วในเรื่องต้นทุนที่แท้จริงนั้น มันคงหาไม่ยาก ถ้าตั้งใจจะหากันจริงๆ  เพราะการทำธุรกิจหรือการประกอบอุตสาหกรรมต่างๆ  เขาก็มีการบันทึกต้นทุนกันอยู่แล้ว ซึ่งมันเป็นเรื่องที่โกหกกันไม่ได้ แต่ปัญหาสำคัญมันอยู่ที่ว่า “รัฐบาลชุดนี้จะรักษาการไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง”
แล้วทำไมจะมาให้ “รัฐบาลชุดนี้ถูกด่า” ให้เสียเครดิตกันเสียเล่า

ดีครับ … ที่ว่าดีในที่นี่ก็คือ ประการแรก สินค้ายังไม่ขึ้นราคา ประชาชนทั่วไปก็คงจะชื่นชอบ ประการที่สอง ดีกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่ต้องถูกตำหนิจากประชาชน และสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติต้นทุนในครั้งนี้ไปได้อย่างหวุดหวิด

แต่ที่ไม่ดีล่ะครับ  …
ผมว่าบรรดาผู้ผลิตสินค้าทั้งหลายที่แบกรับภาระต้นทุนทั้งหลายคงไม่มีใครว่าดีแน่นอน และยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาหลังการเลือกตั้งด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีใครว่าดีเป็นแน่แท้ เพราะปัญหาได้ถูกวางกองเตรียมไว้ให้เห็นๆก่อนจะเป็นรัฐบาลเสียอีก แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นเรื่องท้าทายความสามารถที่พรรคการเมืองจะได้โชว์วิสัยทัศน์และความสามารถในการแก้ปัญหาให้ประชาชนเขาได้ประจักษ์และลงคะแนนให้อย่างไรก็ตาม โดยหลักการทางเศรษฐกิจเสรีแล้ว การควบคุมราคาหรือการกำหนดราคาสินค้าและบริการไม่ให้เป็นไปตามกลไกราคาหรือต้นทุนที่ควรจะเป็นแล้ว ถือเป็นการบิดเบือนราคา ย่อมส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของภาคการผลิตและภาคการลงทุนในอนาคต ที่สำคัญมันลดขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจพวกนี้ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาให้ต่อสู้กับต่างประเทศได้อย่างเต็มที่ เรื่องนี้ต้องถือว่าเป็นจุดอ่อนของเรา เพราะรัฐบาลไม่สามารถสร้างอำนาจซื้อให้ประชาชนในระดับต่างๆได้ ประชาชนจึงขาดรายได้หรือรายได้ต่ำลง ทำให้ต้องหันมาใช้นโยบายชะลอการขึ้นราคาสินค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับกรรมไปในที่สุด

เมื่อถามว่า ผู้ประกอบการผลิตสินค้าอยากขึ้นราคาสินค้านักใช่ไหม ?ผมในฐานะทำงานอยู่กับนักธุรกิจและพ่อค้ามานาน ยืนยันได้เลยว่า เขาไม่อยากขึ้นราคา บรรดานักธุรกิจที่ผลิตสินค้าทั้งหลาย เขาคำนึงถึงความเหมาะสมของตลาดหรือความต้องการของประชาชน รวมถึงสภาวะการแข่งขันของตลาดเป็นสำคัญ ไม่ใช่ว่า ถ้าต้องการร่ำรวย จะกำหนดราคาเท่าไหร่ก็ทำได้ และที่สำคัญ การขึ้นราคาแต่ละครั้ง มีผลกระทบต่อยอดขาย โดยเฉพาะสินค้าที่มีคู่แข่งและมีอยู่หลากหลายในท้องตลาด … ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักแต่ที่อยู่กันได้ในปัจจุบัน ก็แค่เพียงประคับประคองตัวเองไม่ให้ล้ม บริหารต้นทุนกันสุดๆ ค่าใช้จ่ายต่างๆตัดกันแล้วตัดกันอีก เช่น งบการอบรมของพนักงาน งบประชาสัมพันธ์และงบโฆษณา งบจัดเลี้ยงและรับรองลูกค้า เป็นต้นบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลาย เขายังมีความหวังอยู่เสมอครับว่า อนาคตต้องดีกว่านี้แน่นอน
และหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่จะทำให้เศรษฐกิจสดใสขึ้นในปีใหม่


ส่วนปีนี้ … ขอออมแรงและออมเงินไว้ก่อนครับ

Read Full Post »

closed.jpg

เมื่อครั้งที่ Supprime ทำเอาธุรกิจการเงินในอเมริกาเกิดวิกฤติไปเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทั่วโลกก็คิดว่า อเมริกาจะสามารถแก้ปัญหาวิกฤติในครั้งนี้ได้ …

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ดูเหมือนว่าบรรดาวาณิชธนกิจในอเมริกาทั้งหลายต่างก็อยู่ในอาการฝันร้ายเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ครั้งหลังสุด ธนาคารแห่งอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่อันดับ 2 ของอเมริกา ได้ประกาศเลิกจ้างคนงานอีก 3,000 ราย เนื่องจากธุรกิจการเงินส่วนใหญ่ในขณะนี้กำไรหดลงไปอย่างน่าใจหาย โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ลดลงไปถึง 93%

ตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน บริษัทการเงินต่างๆปลดคนงานไปแล้ว 13,000 ตำแหน่ง ซึ่งมากกว่าการปลดพนักงาน 50,000 คน เมื่อปีที่แล้วถึง 2 เท่า และมากกว่าสถิติสูงสุดของปี 2544 ที่มีการปลดคนงานจำนวน 116,000 คน

ขณะนี้บริษัทการเงินในอเมริกาต่างก็ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างหนักจากการจำนองซับไพรม์และเงินกู้ และพันธบัตรองค์กรที่มีความเสี่ยงสูงมาก ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านการจ้างงานที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีการปลดคนงานออกไป 80 % ของคนงานที่ถูกปลดไปแล้ว

สาเหตุหลักๆของการปลดคนงาน ก็เนื่องมาจากความตกต่ำของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างเช่นบริษัทคันทรี่ไวด์ ไฟแนนเชียน ซึ่งเป็นผู้รับจำนองอันดับ 1 ของอเมริกา ก็ปลดคนงานออกไปถึง 12,000 คน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง ในขณะเดียวกัน บริษัท อินดี้แมค แมนคอร์ป ก็เลิกจ้างพนักงานไปอีก 1,000 ตำแหน่งในเดือนเดียวกัน และบริษัทแอ็คเครดิตเทคโฮม เลนเดอร์ส ก็ได้ปลดพนักงาน 16,000 ตำแหน่ง และบริษัทแคปิตอลวัน วางแผนปิดแผนกจำนองกรีนพอยน์ลง ทำให้ต้องปลดคนงานออกไปอีก 1,900คน

ท่านทั้งหลายครับ การปลดคนงาน ยังไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ ยังขยายไปทั่ว ลุกลามไปถึงบรรดานายแบงค์ กิจการเทรดเดอร์ และนักการเงินทั้งหลายอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และผลกระทบได้คืบคลานเข้าไปสู่ยุโรปบางส่วนแถมยังมีแถบเอเซียอีกเล็กน้อย

ขณะนี้เวลาของปี 2550 ยังเหลืออยู่อีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น อเมริกาจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ยุติลงได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะคนจะต้องตกงานเพิ่มขึ้น และที่น่าวิตกไปกว่านั้นก็คือ ประเทศอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ ธุรกิจการเงินเคยอู้ฟู่มั่งคั่ง การเงินภายในประเทศหมุนเวียนดีมีอำนาจการซื้อสูง ประเทศไทยก็สามารถส่งสินค้าไปขายยังสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก จนเรียกได้ว่าเป็นตลาดหลักของประเทศไทย

แต่อนิจจา … เศรษฐีอย่างอเมริกากลับต้องมาจนลงชั่วขณะ ก็อาจจะมีผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยบ้าง ผมว่าบรรดาผู้ส่งออกทั้งหลายเตรียมตัวเตรียมความพร้อมไว้บ้างก็ดีเหมือนกันนะครับ เราต้องห่วงตัวเราเองก่อนครับ เพราะขณะนี้รัฐบาลท่านกำลังเป็นห่วงการเลือกตั้ง อาจจะไม่มีเวลาว่างพอ หรืออาจจะมองว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งไปเลยก็ได้ …

Read Full Post »

show.jpg

ธุรกิจหลักของสังคมไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน เป็นธุรกิจซื้อมา-ขายไป ซึ่งจัดตั้งเป็นร้านค้าขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนกระทั่งถึงระดับหมู่บ้าน

ร้านค้าเหล่านี้จะมีทั้งประเภทขายรวม คือ ของกินของใช้และของชำ และมีทั้งประเภทขายเดี่ยว คือ ประเภทเครื่องมือ เครื่องใช้ เคมีภัณฑ์ การเกษตร ยา และวัสดุก่อสร้าง
ธุรกิจเหล่านี้ เป็นแกนหลักในการกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปถึงมือผู้บริโภคทุกหัวระแหงของประเทศ หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ทั่วประเทศคิดเป็น GDP ไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร

นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการสร้างงาน ทำให้คนมีงานทำทั่วประเทศมากมายมหาศาล และที่สำคัญ ” ธุรกิจโชวห่วย … เป็นธุรกิจครอบครัว “ เลี้ยงครอบครัวทั่วประเทศให้มีอยู่มีกิน มีฐานะส่งลูกหลานเรียนจนได้ดิบได้ดี เป็นใหญ่เป็นโต มีฐานะมั่นคงเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด นักธุรกิจระดับใหญ่ของประเทศหลายคนก็มาจากครอบครัวธุรกิจ ” โชวห่วย ”

จนมาถึงวันนี้ ธุรกิจโชว์ห่วย อันถือเป็นแกนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ของสังคมและของครอบครัว กำลังเกิดปัญหา ถูกรุกรานจากต่างชาติ จนเกือบจะหาที่ยืนไม่ได้ ไม่ต่างอะไรกับค่ายบางระจันที่รอวันแตกพ่าย โดยที่ภาครัฐยื่นมือเข้าไปช่วยช้ามาก เรียกว่า กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้แล้ว ไม่ทันการณ์ เอาแต่เรียกร้องให้ภาคเอกชนปรับตัว
ผมก็ไม่ทราบว่าภาครัฐกับภาคเอกชน ใครควรปรับตัวก่อนใคร แต่ในความรู้สึกของผม ผมรู้แต่ว่า ภาครัฐต้องเป็นผู้นำ ส่วนท่านจะนำอย่างไรนั้น ท่านต้องมีวิธีการของท่านแต่ที่ผ่านมา ผมยืนยันได้เลยว่า … ท่านยังไม่ได้นำครับ

ความจริงแล้ว ในเรื่งผลกระทบจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ของต่างชาติ หรือที่เราเรียกกันว่า ” ธุรกิจข้ามชาติ “ นั้น เราเรียกร้องกันมาเกือบ 7 ปีแล้ว แต่ไม่มีอะไรคืบหน้า รัฐอ้างว่าเราไม่มีกฏหมายโดยตรง แล้วก็หาทางออกโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยกันหาทางแก้ด้วยการใช้กฏหมายผังเมืองบ้าง กฏหมายควบคุมอาคารบ้าง  ใช้เทศบัญญัติที่เป็นกฏหมายปกครองท้องถิ่นบ้าง
แต่กฏหมายตรงๆที่เกี่ยวข้องกับค้าปลีกไม่มี บรรดาผู้ค้าปลีกทั้งหลายก็เรียกร้องว่า

” เมื่อไม่มีแล้ว ทำไมไม่รีบทำ? “


ก็ได้รับคำตอบว่า ” … ขั้นตอนมันเยอะ ”

นี่แหล่ะครับ มันเป็นเรื่องที่เราไม่ใส่ใจตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว จนกระทั่งมาวันนี้ คณะรัฐมนตรีขิงแก่เพิ่งผ่านความเห็นชอบ พ.ร.บ. ค้าปลีกออกมา ซึ่งใช้เวลาทำเรื่องนี้อยู่เกือบ 1 ปีเต็ม แต่ก็ยังถือว่า อยู่ในห้วงเวลาที่พอจะช่วยได้ แต่ก็ทำแบบไฟลนก้นไปหน่อย

ความจริง ผมไม่ได้รังเกียจธุรกิจข้ามชาติหรือต่างชาติหรอกนะครับ แต่ว่าเมื่อเข้ามาทำมาหากินในบ้านเรา ก็ควรจะต้องมีระบบที่ทำให้เรากับเขาอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่ “เขามา – เราตาย ” หรือให้ “เขาไป – เราอยู่ ” อย่างนี้มันก็จะมีแต่ความขัดแย้ง สังคมไม่สงบสุขผมยังยืนยันว่า เรื่องนี้ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐอย่างแน่นอนครับ ที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการเรื่องนี้ให้เรีบยร้อย และทำให้ธุรกิจโชว์ห่วยของเรา พัฒนาเติบโตและเป็นแกนหลักสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติต่อไป

Read Full Post »