Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Archive for the ‘เหตุการณ์บ้านเมือง’ Category

pachatippatai


โดย ประพัทธ์โชต ธนวรศาสตร์
                    อยู่ ๆ ก็มีข่าวพรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อล้างมลทิน
ให้กับผู้กระทำผิด ทั้งก่อน  19 กันยายน  และหลัง 19 กันยายน 2550   ฟังดูหลักการเผิน ๆ
ถ้าไม่ทราบรายละเอียด ก็น่ารับฟังไม่น้อย เพราะอ้างหลักความสมานฉันท์ให้กับคนในชาติ
บ้านเมืองที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ในเวลานี้

 

                  ผมรู้สึกเป็นห่วงอยู่หลายประเด็นด้วยกัน โดยเฉพาะหลักการสำคัญคือ หลักของ
การออกกฎหมายที่จะต้องออกเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ นี่แค่เพียงหลักเดียว
ก็ยังสร้างความสงสัยให้กับคนทั้งประเทศเสียแล้ว ว่าทำไม ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งมาจาก
ประชาชน จึงได้ตัดสินใจออกกฎหมายที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนเอาเสียเลย
 
                  จากการพูดคุยกับคนในหลายวงการ ก็มีข้อสงสัยอีกมากมาย หลายประการ ผม
ขอนำข้อสงสัยมานำเสนอ เพื่อให้ท่านทั้งหลายรวมทั้งรัฐบาลและส.ส.ได้นำไปคิดและพิจารณา
ว่าสิ่งที่ท่านกำลังจะทำนั้น มันถูกหรือผิด และเป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมืองมากน้อยเพียงใด

                ข้อสงสัยประการแรก  พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน รวมถึงพรรค
การเมืองอื่นที่ถูกยุบนั้น เป็นพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่  ถ้าใช่ก็
หมายถึงท่านได้กระทำผิด ตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม
ก็เท่ากับเป็นการลบล้างคำพิกษาของศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็เท่ากับว่ากฎหมาย
รัฐธรรมนูญและคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญก็ไร้ความหมาย  ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ หมดความ
น่าเชื่อถือ รวมทั้งนักการเมืองทั้งหลายที่ร่วมกันกระทำในครั้งนี้ ก็ไม่น่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน
ใช่หรือไม่

                ข้อสงสัยประการที่สอง  การออกกฎหมายในลักษณะนี้ ทำไมไม่ให้ผู้เกี่ยวข้อง
หรือผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม แต่นี่ผู้เสนอกับผู้ได้รับประโยชน์กลับเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
ประชาชนจะไว้ใจได้อย่างไร ท่านลองคิดดูซิว่ากลุ่มญาติพี่น้องของคนที่ถูกฆ่าตัดตอน
2,5000 ศพ เขาจะยอมหรือ กลุ่มญาติ พี่น้องของเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
จะยอมได้หรือไม่ ในเมื่อเขามีแต่เสียประโยชน์ และเมื่อมีแต่เสียงคัดค้านความปรองดอง
จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

                  ข้อสงสัยประการที่สาม  ในเมื่อประเทศกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ
ประเทศกำลังขาดความเชื่อมั่น ทำไมท่านทั้งหลายจึงไม่ร่วมไม้ ร่วมมือ ร่วมใจกัน
แก้ปัญหาให้กับประชาชน แทนที่จะเร่งออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน
กลับมัวแต่เล่นเกมถ่วงเวลา นับองค์ประชุมกันอยู่ตลอดเวลา มันชี้ให้เห็นว่า ถ้า
ประชาชนเดือนร้อนท่านไม่สนใจ แต่ถ้าพวกท่านเดือดร้อน ท่านจะต้องออกกฎหมาย
เพื่อแก้ปัญหาทันที แล้วอย่างนี้ ท่านทำเพื่อชาติหรือทำเพื่อตัวท่านเองกันล่ะ

                ข้อสงสัยประการที่สี่ เมื่อท่านทำผิดแล้วบอกว่าไม่ผิด โดยการออกกฎหมาย
ล้างความผิดให้ตนเองได้ เพราะมีพวกมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดานักโทษที่ติดคุกนับ
แสนคนในขณะนี้ พร้อมทั้งบรรดาญาติ พี่น้อง จะขอออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับ
ตนเองบ้างได้หรือไม่ เพราะเขาก็มีสิทธิอ้างความปรองดองได้มิใช่เหรือ ถ้าบอกว่าเขา
ทำไม่ได้แล้วจะเป็นธรรมกับพวกเขาได้อย่างไร

                ข้อสงสัยเหล่านี้ ผมว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลต้อง
ตั้งหลักให้ดี คิดให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะงานนี้คนที่ได้รับประโยชน์ไม่ใช่
ประชาชนส่วนใหญ่อย่างแน่นอน แต่กลับเป็นนักการเมืองที่ทำผิดอย่างเต็ม ๆ งานนี้
ถ้ารัฐบาลตัดสินใจผิดพลาด และหลงเล่นตามเกม ก็เชื่อผมได้เลยว่า ท่านก็จะเป็น
อีกหนึ่งรัฐบาลที่มีอายุสั้นที่สุด

Read Full Post »

เมื่อวันอังคารที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีชุดพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประชุมกันเป็นนัดสุดท้าย เป็นการบอกสาธารณชนทั้งหลายว่า รัฐบาลนี้ได้หมดบทบาทและหน้าที่ลงแล้ว รัฐมนตรีแต่ละท่านเตรียมเก็บของใช้ส่วนตัวกลับบ้านไปด้วยความโล่งอก สบายตัวที่ได้พ้นภาระกันเสียที

ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะจากไป แต่ก็ไม่ได้จากไปพร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงค้างคาไว้ให้รัฐบาลชุดใหม่มารับภาระต่อไปอย่างมากมาย และในช่วงปลายรัฐบาลนี้ ปัญหาเศรษฐกิจได้ถาโถมเข้ามาอีกระลอก มีทั้งปัญหาราคาน้ำมัน สินค้าขึ้นราคา ค่าเงินบาทแข็ง ประชาชนหมดอำนาจซื้อ รวมไปถึงแก๊ซหุงต้ม ค่ารถเมล์ ขึ้นราคากันหมด ชาวบ้านรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจถดถอยซึมเซา แต่รัฐบาลชุดนี้ ท่านก็มิได้เห็นหรือทำอะไรกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

โรคเก่าไม่ทันหาย โรคใหม่ก็เข้ามาอีก ครั้งนี้ดูเหมือนจะอาการหนัก เพราะมันเป็นวิกฤติเศรษฐกิจของโลก เกิดจากปัญหา Sub-prime ของอเมริกา ที่มีผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสื่อมวลชนขนานนามว่า “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” หรือแม้แต่ “พ่อมดการเงิน” อย่าง จอร์จ โซรอส ยังบอกว่า วิกฤติครั้งนี้ ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี หลังจากสงครามโลกครั้งที่ สองเป็นต้นมาไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และวิกฤติครั้งนี้มีผลกระทบกับไทยแน่ๆ

ขนาดโรคเก่า เป็นโรคธรรมดาเรายังรักษากันไม่หาย โรคใหม่เป็นโรคสากล ที่มาจากแดนไกล มีอาการรุนแรง เราจะไปเอายาที่ไหนมารักา หมอที่มีอยู่ก็มองไม่เห็นตัวว่า จะมีหมอคนไหนที่มีฝีมือและอาสาเข้ามาช่วยรักษา ผมดูแล้วค่อนข้างจะอ่อนใจเหมือนกัน แต่ยังไม่ท้อใจนะครับ

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลใหม่ที่จะต้องเข้ามาทำหน้าที่ต่อจากรัฐบาลเก่า ย่อมจะต้องหาขุนคลัง มือเศรษฐกิจที่เก๋าเกมส์ รู้สมุห์ฐานของโรคและรู้วิธีรักษา หรือพูดง่ายๆว่า “มือถึง และ ใจถึง “ มิเช่นนั้นแล้วก้เอาไม่อยู่จริงๆครับ

เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีท่านผู้รู้หลายท่านได้ออกมาให้ความเห็นเสนอแนะดีๆหลายประเด็นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นท่านปรีดิยาธร เทวกุลฯ ท่านดร.โอฬาร ไชยประวัติ ซึ่งมีปรากฎในหน้าสื่อมวลชนไปแล้ว แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือท่านประมนต์ สุธีวงศ์ของผม ท่านได้ให้ความเห็นไว้ค่อนข้างเป็นรูปธรรมและเป็นทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ คือ ท่านเสนอให้รัฐบาลใหม่ ใช้มาตรการทางการคลัง อัดฉีดเงินงบประมาณเข้าไปอีก 80,000 ล้านบาท เพิ่มจากงบประมาณปี 51 ที่มีอยู่1.6 ล้านล้านบาท ขาดดุล 110,000 ล้านบาท ทำให้การขาดดุลงบประมาณอยู่ในระดับไม่เกิน 200,000 ล้านนบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 2.5 ของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) งบที่อัดฉีดนี้ ท่านให้จ่ายเป็น 2 ส่วน คือ 40,000 ล้านบาทแรก ให้ใช้กับการลดอัตราภาษีเงินได้ให้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีเงินไปใช้จ่าย และชดเชยภาษีบางส่วนและส่งเสริมให้เอกชนรายเล็กๆได้มีการลงทุนสามารถดำรงธุรกิจของตนเองอยู่ได้

ส่วนอีก 40,000 ล้านบาทที่สอง ท่านเสนอให้นำไปสร้างรายได้ในชนบท โดยก่อสร้างสาธารณูปโภค เพื่อให้เกิดการจ้างงานและมีรายได้ไปใช้จ่ายซึ่งรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศควรจะกำหนดโครงการทันที และก็เร่งรัดให้มีการใช้จ่ายงบประมาณโดยเร็ว

สำหรับมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ท่านบอกว่า หากจะยกเลิกต้องมีมาตรการรองรับ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ต้องไตรตรองให้รอบคอบ ในขณะเดียวกัน ท่านก็ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงค์ชาติ) พิจารณาว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งจะต้องดูผลกระทบค่าเงินบาทและอัตราเงินเฟ้อด้วย หากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสูง อาจจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงบ้าง

ผมเข้าใจว่า ที่นำมาเสนอทั้งหมดนี้ ทั้งว่าที่นายกรัฐมนตรีและว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คงจะได้รับทราบบ้างแล้ว และคงจะเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีแล้วว่าจะต้องทำอะไรบ้าง หวังว่า หลังได้รับตำแหน่ง ก้นถึงเก้าอี้เมื่อไร ก็ลงมือทำกันได้อย่างเต็มที่เลย 

แต่ถ้าถึงวันนั้น ท่านมาบอกกับพวกเราว่า “ขอศึกษาก่อน” ก็ตัวใครตัวมันนะครับ

Read Full Post »

อีกไม่กี่วันจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีนัยว่าเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐบาลไปด้วย ในระยะโค้งสุดท้ายของการหาเสียง เกมส์จึงเต็มไปด้วยลีลา สีสัน และความดุเดือด

โพลของสำนักต่างๆ นำเสนอต่อสาธารณชนผ่านสื่อต่างๆเกือบทุกวัน ทำให้สถานการณ์การแข่งขันทางการเมืองมีความคึกคัก บางครั้งดูเหมือนกับว่ามีความตึงเครียด การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ทั้งบนเวทีปราศรัย หรือ การแถลงข่าวต่างก็ใช้วาทะเด็ด เพื่อดึงดูดคะแนนกันอย่างเต็มที่

พรรคไหนมีนโยบายอะไรที่จะเป็นจุดอ่อน ดี เมื่อเปิดออกมาแล้วดัง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างคะแนนเสียง แต่เท่าที่ดูแล้วเกือบทุกพรรคก็ยังเน้นประชานิยมกันเป็นส่วนใหญ่ มีลด แลก แจก แถมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ผมมีความรู้สึกว่า ในสมัยหน้านี้ ใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม จะต้องมีการใช้เงินงบประมาณกันเป็นจำนวนมหาศาล

การใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ในเมื่อรัฐบาลเป็นผู้ใช้เงินรายใหญ่ มีหน้าที่ใช้ก็ต้องใช้ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว หรือมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทุกคนต่างก็โหยหา และตั้งความหวังว่า หลังเลือกตั้งเศรษฐกิจจะดีขึ้น

ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า ใช้เงินงบประมาณอย่างไรให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนมากที่สุด และเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆสามารถตรวจสอบได้อย่างตรงไปตรงมา หรือเป็นไปตามกฏหมายกำหนดก็พอแล้ว แต่ถ้าหลีกเลี่ยงการตรวจสอบแล้วใช้เล่ห์กลทางกฏหมายโต้กันไปมา หรือเบ้ไปเบ้มา จนกระทั่งเกิดกระแสความไม่พอใจออกมาเดินขบวนต่อต้านกันเต็มบ้านเต็มเมือง กล่าวหาซึ่งกันและกันโดยไม่ยอมลดลาวาศอก หรือ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้ จนกระทั่งนำไปสู่ความร้าวฉานในสังคมมากขึ้นๆทุกขณะ ถึงขนาดพูดกันออกมาเลยว่า “ถ้าไม่เป็นไปตามที่ตนพูดไว้ แผ่นดินจะลุกเป็นไฟแน่นอน”

พวกเราฟังแล้วรู้สึกไม่สบายใจ และอยากจะตั้งคำถามว่า แค่เพียงความเห็นไม่ตรงกัน ถึงขนาดจะทำให้บ้านเมือง “ลุกเป็นไฟ” เชียวหรือ … เพราะอะไร ? ที่พวกท่านทั้งหลายถกเถียงกัน มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน “มิใช่ทำเพื่อบ้านเมืองดอกหรือ” แล้วเมื่อต่างฝ่ายต่างทำเพื่อบ้านเมือง ก็แสดงว่า พวกท่านรักบ้านเมือง รักประเทศชาติ แล้วทำไมจะปล่อยให้บ้านเมืองของเราลุกเป็นไฟเสียล่ะ … ผมไม่เข้าใจ !

การที่บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟได้นั้น มันมีอยู่สองพวกด้วยกัน พวกแรกเป็นพวกที่จุดไฟ พวกที่สองเป็นพวกที่ใส่เชื้อเพลิง เมื่อเรารู้ว่าจะมีคนจุดไฟ เราก็ต้องไม่ให้ใครมาเติมเชื้อเพลิง

ถ้าเราสามารถแยกไฟกับเชื้อเพลิงออกจากันได้ ไฟมันก็ไม่ลุกไม่ลามออกไปจนไม่สามารถจะดับได้ ปัญหานี้มันอยู่ที่ว่า ขณะนี้ใครเป็นไฟ และ ใครเป็นเชื้อเพลิง

เราเป็นคนไทยที่มีความรักชาติ รักแผ่นดิน เราต้องใช้ข้อมูล ความรู้ และสติแยกแยะให้ออก และร่วมใจกันอย่างพร้อมเพรียงออกไปดับไฟเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง

พลังเงียบซึ่งเป็นพลังความคิด และเป็นพลังที่มีสติปัญญา ต้องแสดงออกร่วมกัน ตัดสินชะตาชีวิตของพวกเรากันเอง ออกมาร่วมกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ พร้อมใจกันลงคะแนนเสียงให้เด็ดขาด เสียสละเวลากันเพียงวันเดียว ผมว่ามาถึงวันนี้แล้วทุกอย่างชัดเจนกันพอสมควรว่า จะเลือกใคร
ผมว่าเราต้องตั้งคำถามกับตัวเราเองก่อนครับว่า

1. ใครมีปัญหามากที่สุด เราคิดว่าเขาจะแก้ปัญหาของชาติก่อน หรือจะเลือกแก้ปัญหาของตัวเองก่อน

2. ผู้ที่มีปัญหา ถ้าต้องสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาของตนเอง ก็จะต้องเผชิญกับกลุ่มต่อต้านอย่างไม่รู้จบสิ้น ประเทศชาติจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร

3. ใครที่ไม่มีปัญหาค้างคา หรือมีปัญหาน้อยที่สุด กลุ่มนี้แหล่ะครับ ที่ผมและพวกกำลังหมายตา และตั้งใจว่าจะไปเลือกเขาเป็นรัฐบาล ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นี้ แน่นอน

เพื่อไม่ให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟไงล่ะครับ

Read Full Post »

tuan.jpg

เพื่อนเก่าของผมคนหนึ่งชื่อ ธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ได้พูดถึงคดีทุจริตทางเศรษฐกิจของบริษัทไทยว่า มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2537 ที่เริ่มก่อตั้ง DSI ขึ้นมา เพิ่มขึ้นถึง 200% ในปี 2549 แถมยังบอกอีกว่า ในปี 2550 ผ่านไปแล้ว 9 เดือน เพิ่มขึ้นมาเยอะมาก … และคาดว่า เมื่อถึงสิ้นปี จะเพิ่มถึง 200% แน่นอนครับ

รวมคดีที่ทำมาทั้งหมด มีมากกว่า 300 คดี ได้ส่งฟ้องศาลและอยู่ในขั้นตอนอัยการส่งสำนวนฟ้องจำนวน 200 คดี ยังเหลือคงค้างอีกกว่า 100 คดี

คดีที่พบว่ามีการทุจริตกันมากที่สุด 7 อันดับแรกคือ

– ตกแต่งบัญชี
– ทุจริตผ่องถ่ายหรือถ่ายเทเงินออกนอกบริษัท(ไซฟ่อน)
– สร้างต้นทุนเท็จ
– ให้บุคคลอื่นกู้เงิน
– โอนกำไรระหว่างบริษัท
– ทุจริตด้านภาษีอากร
และ ทุจริตโดยใช้ข้อมูลภายใน (Inside)

เมื่อถามว่า ทำไมการทุจริตมันถึงได้มากขึ้นทุกปี คุณธาริตบอกว่า …

”  … สาเหตุที่ทำให้การทุจริตของบริษัทเอกชนไทยเพิ่มสูงขึ้น เพราะกฏหมายมีบทลงโทษที่ไม่รุนแรง ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว …  ”

นี่แหล่ะครับ ทำให้สังคมเป็นห่วงและวิตกกังวลกันยกใหญ่ กระแสเรียกร้องถึงคุณธรรมและจริยธรรมจึงกึกก้องไปทั้งแผ่นดิน

เพราะอะไรครับ …

ก็เพราะว่าวิกฤติของประเทศที่เกิดขึ้น และเป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้มันมีสาเหตุมาจากความไม่ซื่อสัตย์ ขาดจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือภาครัฐก็ตาม ล้วนแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น ทำให้ประเทศชาติขาดความน่าเชื่อถือ เดินหน้าก็ไม่ได้ วางตัวก็ลำบาก ติดต่อกับต่างประเทศก็ไม่ค่อยมีใครต้อนรับ จะชวนประเทศไหนเข้ามาลงทุนเขาก็หวาดระแวงกลัวเราจะโกง 

มันถึงเวลาตั้งนานแล้วครับที่เราจะต้องสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ต่างชาติเขาเห็นว่า เราเป็นชาติที่มีความโปร่งใส จริงใจ ไร้มลทินเสียที เริ่มทำกันวันนี้ก็ไม่สายนะครับ

ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับต้นๆ รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในเชิงนโยบายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ควรจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ แก้ไขปัญหานี้ให้ทุเลาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะที่ผ่านมาทำกันแบบไฟไหม้ฟาง ทำๆหยุดๆ มีปัญหาเมื่อไรก็หยิบมาพูดกันเสียทีหนึ่ง ทำให้ปัญหาพอกพูน หมักหมม และกลายเป็นมะเร็งร้ายของประเทศไปในที่สุด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมขอชวนท่านทั้งหลายมาดูภาพลักษร์ของไทยในสายตาของชาวโลก จากรายงาน “ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index-CPI) ของ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ”

เขาเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปี 2550 ได้จัดอันดับประเทศต่างๆ โดยให้คะแนเต็ม10 แล้วก็เรียงจากมากไปหาน้อย ใครได้คะแนนมาก แปลว่ามีภาพลักษณ์ดี โกงน้อย แต่ถ้าใครได้คะแนนน้อย แปลว่า ภาพลักษณ์ห่วย ถือว่าโกงมากไปจนถึงโคตรโกง

(ดาวน์โหลดเพื่อชมผลสรุปคะแนนได้ที่นี่)

หลังจากให้คะแนนกันแล้วทั้งหมด 180 ประเทศ ปรากฏว่า ประเทศไทยได้ 3.3 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 84 เลยครับ หล่นจากปีที่แล้วที่ได้ 3.6 คะแนน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 63 อันนี้เป็นระดับโลกนะครับ

แต่ถ้าเรามาดูกันเฉพาะในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ซึ่งจัดอันดับกันไว้จำนวน 32 ประเทศ ของไทยเราจะอยู่ในอันดับที่ 14 ครับ

ผมดูจากคะแนนที่ประเทศไทยได้รับนั้น ยังไม่ถึงครึ่ง (5 คะแนน) สะท้อนให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชั่นในบ้านเรา ซึ่งเราคงปฏิเสธกันไม่ได้ว่ามีอยู่จริง และมากมายจนเป็นเรื่องปกติ ดูเหมือนว่า สังคมเริ่มจะมีทัศนคติแบบผิดๆคือ ใครไม่โกง คนนั้นสิโง่

ถ้าค่านิยมเป็นอย่างนี้ ผมคิดว่า “อันตราย” ครับ ความหายนะจะมาเยือนประเทศเราอย่างแน่นอน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงความโปร่งใสกันอย่างจริงจัง ร่วมกันสร้างระบบตรวจสอบให้มีความแข็งแกร่ง ร่วมมือกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด อบรมสั่งสอน รณรงค์ให้เยาวชนมีจิตสำนึก มีคุณธรรมและจริยธรรม อย่าอุ้มชูข้าราชการหรือเอกชนที่คอร์รัปชั่น อย่านับถือคนที่ร่ำรวยมาจากการทุจริต

ซึ่งเรื่องนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ตระหนักอยู่ตลอดเวลา คณะกรรมการของเราทำเรื่องจรรยาบรรณมากว่า 6 ปีแล้ว โดยทำในกลุ่มของสมาชิก รวมทั้งหอการค้าทั่วประเทศด้วย เริ่มทำให้สังคมเห็นความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่บอกตามตรงว่า งบประมาณเรามีจำกัดครับ ผู้สนับสนุนก็มีน้อย ถ้ารัฐบาลโดดมาเล่นเรื่องนี้อย่างจริงจังและสนับสนุนเราได้ ผมเชื่อว่าภาพลักษณ์ความโปร่งใสเราจะดีขึ้นแน่นอนเลยครับ

Read Full Post »