Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Archive for กันยายน 24th, 2007

ปัจจุบันทั่วโลกเราใช้น้ำมันอันเป็นพลังงานหลักมากขึ้นทุกปี ถ้าปีไหนเศรษฐกิจขยายตัวมาก การใช้พลังงานน้ำมันก็มีมากขึ้นตามไปด้วย จะเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป จีน หรือญี่ปุ่น ถ้าปีไหนเศรษฐกิจโตมาก ก็หมายความว่าต้องมีการผลิดสินค้าเพิ่มขึ้น รถยนต์ก็ผลิตมากขึ้น อุตสาหกรรมทุกประเภทก็ใช้น้ำมันมากขึ้นตามไปด้วย

เมื่อผลิตสินค้ามาก ก็ต้องมีการขนส่งมากขึ้น นักธุรกิจ นักการตลาด นักเจรจาทั้งหลาย รวมทั้งนักท่องเที่ยวก็ต้องเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานน้ำมันด้วยกันทั้งสิ้น

จากการประเมินของนักธรณีวิทยาที่มีความรู้เกี่ยวกับน้ำมันดิบใต้ดินว่า น้ำมันดิบที่มีอยู่ในเวลานี้ จะใช้ได้อีกประมาณ 30 ปี เผลอๆ 20 ปีก็หมดแล้วครับ คือ ถ้าการใช้ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็หมายถึงว่า จะหมดเร็วแน่นอน นี่ขนาดทั่วโลกรณรงค์ให้ลดการใช้น้ำมันลงเพราะปัญหาโลกร้อน รวมทั้งแสวงหาพลังงานทดแทนแล้ว ก็ยังไม่ทันกับความต้องการของมนุษย์อยู่นั่นเอง …

ขณะนี้หลายประเทศ กำลังเล็งไปที่ “พลังานนิวเคลียร์” เพราะเห็นว่าประเทศที่เจริญแล้ว นำมาใช้แล้วประสบความสำเร็จ มีต้นทุนต่ำ แถมยังทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย เพราะเป็นพลังงานที่สะอาด


ประเทศในยุโรปที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์มากที่สุด คือ ประเทศฝรั่งเศส
ครับ เขามีเทคโนโลยีในเรื่องนี้ที่ยอดเยี่ยมมาก มีมาตราการในการรักษาความปลอดภัยอย่างดีเลิศ จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า ฝรั่งเศสมีส่วนทำให้สภาพแวดล้อมของอากาศทั่วโลกดีขึ้น

จากประบการณ์ที่ยาวนานของฝรั่งเศสนี้เอง เป็นบทพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่สิ่งอันตราย ถ้าได้ดูแลเป็นอย่างดีและมีมาตรฐานสูง ส่งผลให้ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อบ้านของเราหลายประเทศ กำลังให้ความสนใจทำโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้น มีทั้ง อินโดนีเซีย เวีดนาม พม่า และล่าสุดก็คือ กัมพูชาครับ

ประเทศเหล่านี้ไม่เพียงแต่ให้ความสนใจธรรมดา ยังมีการเตรียมแผนงาน เตรียมงบประมาณ และเดินทางไปดูงาน ศึกษาเทคโนโลยีกับฝรั่งเศสอย่างจริงๆจังๆเลยนะครับ

ส่วนประเทศไทยของเรา กระทรวงพลังงานก็ไม่น้อยหน้าประเทศอื่นเหมือนกันนะครับ โดยได้จัดเตรียมแผนงาน และจะเริ่มฝึกเจ้าหน้าที่ที่จะรับผิดชอบในโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในช่วงระยะเวลา 7 ปีต่อจากนี้ไป และตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในประมาณปี 2021 หรือ พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะเริ่มใช้พลังงานนิวเคลียร์ได้แล้ว เพราะตอนนั้น ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในประเทศจะสูงมากขึ้นกว่าปัจจุบันถึง 5,000 ล้านกิโลวัตต์ทีเดียว

ถ้าไม่รีบดำเนินการมีหวังไฟดับกันทั้งประเทศ เศรษฐกิจและการลงทุนในด้านต่างๆจะเป็นปัญหาวิกฤติอย่างหนัก เนื่องจากไฟฟ้าเป็นพลังงานปัจจัยพื้นฐาน(Infra-Structure) ที่สำคัญยิ่งของระบบเศรษฐกิจเลยนะครับ

เมื่อพูดถึงโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทีไร ผมก็รู้สึกหนักอกขึ้นมาทุกที ไม่ใช่เพราะอกของผมมันใหญ่นะครับ แต่เป็นเพราะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่เขาอาศัยอยู่ในบริเวณที่ตั้งโรงงานไฟฟ้านั่นแหล่ะ เขาไม่ไว้ใจ เขาไม่รู้มาตราการรักษาความปลอดภัยจะทำได้ดีเยี่ยมขนาดไหน

ใครๆก็กลัวตายครับ เขารู้แต่ว่ามันมีอันตรายร้ายแรง แต่ไม่รู้ว่ามันมีคุณปะโยชน์และมีวิธีป้องกันอย่างไรให้ปลอดภัยและชาวบ้านไว้วางใจ

ผมคิดว่า เรื่องนี้กระทรวงพลังงานต้องเริ่มชิงลงมือให้การศึกษากับประชาชนนะครับ ผมขอย้ำและเน้นคำว่า “ให้การศึกษา” ไม่ใช่ประชาสัมพันธ์อย่างเดียวนะครับ เพราะคำว่า “ให้การศึกษา” มันลึกซึ้งและเข้าถึงมากกว่าการประชาสัมพันธ์อย่างเทียบกันไม่ได้เลยเชียวละ

เราต้องทำให้คนของเรารู้จริง รู้เท่าทัน รู้เหมือนกัน และต้องรู้ทันกันหมด อย่าปล่อยให้พวกที่รู้ข้างๆคูๆ เอาไปปลุกระดมจนพินาศย่อยยับเหมือนเหตุการณ์ที่ภูเก็ต ทั้งๆที่มันเป็นคนละเรื่อง …

กว่าภาครัฐจะเข้าไปทำความเข้าใจทุกอย่างก็สายไปแล้ว และกว่าจะเดินหน้าต่อไปได้ก็ต้องรอให้รุ่นลูกรุ่นหลานมันมีความรู้ ความเข้าใจ ให้การยอมรับ ถึงเวลานั้น บ้านอื่นเมืองอื่น เขาคงเดินไปไกล จนมองไม่เห็นก้นแล้วล่ะครับ

อย่างไรก็ตามอย่างที่ผมกล่าวมาตั้งแต่แรกว่า หลายประเศในกลุ่มอาเซียนให้ความสนใจ แต่กลุ่มประเทศอาเซียนก็ยังไม่เคยหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกันเป็นเรื่องเป็นราวเลยนะครับ ทั้งๆที่อาเซียนมีข้อตกลงในเรื่องพลังงานอยู่แล้ว แต่ไม่เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์

เพราะฉะนั้นในการประชุมสุดยอดผู้นำ เดือนพฤจิกายน ศกนี้ ที่ประเทศสิงคโปร์ บรรดาท่านผู้นำอาเซียนทั้งหลายทั้งหลาย น่าจะได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกันและตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมาธิการ หรือคณะอะไรก็สุดแต่จะเรียกเถอะครับ

ให้เขาทำหน้าที่ศึกษาแนวทางกำหนดข้อตกลงร่วมกันให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการป้องกัน อย่าปล่อยให้ต่างคนต่างทำและมีหลายมาตรฐานเลยครับ เพราะเรามีบ้านใกล้ชิดติดกัน เวลามีอะไรตูมตามขึ้นมา มันจะอยู่ร่วมกันไม่ได้

ขอให้ช่วยกัน “หนักอก” หน่อยเถอะครับ

Read Full Post »